1. คณะวิทยาศาสตร์ “มหาวิทยาลัยมหิดล” เปิด “คลังข้อมูลและศูนย์เรียนรู้ทางพยาธิชีววิทยา” เป็นแหล่งรวบรวมองค์ความรู้ทางพยาธิชีววิทยาที่ครบวงจรมากกว่า 10,000 ชิ้นงานทางพยาธิวิทยา ทั้งในระดับโมเลกุล เซลล์ เนื้อเยื่อ สัตว์ทดลอง และมนุษย์ เพื่อการเรียนรู้เกี่ยวกับสาเหตุและกลไกการเกิดโรคซึ่งเป็นที่มาที่สำคัญในการรักษาโรคอย่างแม่นยำ คลังสมองทางพยาธิชีววิทยาจึงเป็นเครื่องมือสำคัญในการพิชิตโรคร้ายที่สามารถต่อยอดสู่งานวิจัยและนวัตกรรมทางการแพทย์ โดยมีเครื่องมือการค้นหาและการเรียนรู้ที่ทันสมัยผ่านแอปพลิเคชันในรูปแบบ Onsite และ Online
ไม่ว่ามวลมนุษยชาติจะต้องต่อสู้กับโรคร้าย ทั้งที่เป็นโรคเรื้อรังที่คุ้นเคย หรือโรคอุบัติใหม่ที่ยังไม่มีใครเคยค้นพบในอนาคต ด้วยคลังสมองทางพยาธิชีววิทยาที่เป็นศูนย์รวมแห่งองค์ความรู้ในศาสตร์ดังกล่าวที่ครบครันแห่งนี้ เชื่อมั่นว่าจะเป็นคลังแห่งปัญญาที่จะช่วยฝ่าฟันทุกอุปสรรคปัญหาสู่การเกิดโรค ให้สามารถยับยั้งความรุนแรงของโรค และเป็นที่พึ่งทางปัญญาของมวลมนุษยชาติ ที่นับวันจะยิ่งทวีค่าตราบนานเท่านาน
2. หนึ่งในเหตุผลที่คนไม่สามารถเอาชนะโรคร้ายได้ทันที เป็นเพราะขาด ข้อมูลพื้นฐานทางชีวภาพ ที่จะช่วยค้นหาคำตอบที่เพียงพอ ชัดเจน และแม่นยำ ล่าสุดมหาวิทยาลัยมหิดลตัดสินใจรวมทีมนักวิทยาศาสตร์ เดินหน้าสร้างฐานข้อมูลชีวภาพเพื่อไขปริศนาโรคแห่งยุคสมัยอย่างจริงจัง กลายเป็นความหวังที่จะทำให้ไทยและประเทศเครือข่าย ได้มีฐานข้อมูลชีวภาพเป็นฐานข้อมูลกลางของตัวเอง นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า ฐานข้อมูลทางชีวภาพที่ดีที่สุด คือฐานข้อมูลที่สร้างขึ้นมาเองจากคนในท้องถิ่น ที่ทำนายโรคได้อย่างแม่นยำ ซึ่งจำเป็นต้องมีฐานข้อมูลกลางที่สามารถใช้ศึกษาร่วมกันได้ โดยใช้ Single-cell omics technology หรือ “เทคโนโลยีโอมิกส์ระดับเซลล์” เพื่อวิเคราะห์โครงสร้างทางพันธุศาสตร์ ใช้สร้างแผนที่ความหลากหลายทางภูมิคุ้มกันโรคของคนเอเชีย ในโครงการ Asian Immune Diversity Atlas (AIDA)
โครงการนี้จะทำให้ได้ข้อมูลทางพันธุศาสตร์ คนเอเชีย ที่มีประชากรมากที่สุดในโลก แต่ยังมีข้อมูลทางพันธุศาสตร์ปริมาณน้อยเมื่อเทียบกับยุโรปและอเมริกา เป็นความหวังที่จะเชื่อมต่อเข้ากับโครงการระดับโลกที่ชื่อว่า แผนที่เซลล์มนุษย์ (Human Cell Atlas) ซึ่งอยู่ในขั้นตอนเก็บข้อมูล งานวิจัยครั้งนี้ ไทยได้ร่วมมือกับพันธมิตรจาก 8 ประเทศ สิงคโปร์ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น อินเดีย ศรีลังกา ปากีสถาน และ รัสเซีย นำโดยผู้เชี่ยวชาญด้านพันธุศาสตร์ และโรคมะเร็ง ผู้เชี่ยวชาญด้านการตอบสนองทางระบบภูมิคุ้มกันต่อโรคติดเชื้อ และภูมิแพ้ และผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยาพันธุศาสตร์และชีวสารสนเทศทางการแพทย์
3. AI Manoraa กว่าจะคิดค้นและผลิตยารักษาโรคแต่ละชนิดต้องใช้เวลากว่าหนึ่งทศวรรษ และต้องอาศัยการลงทุนด้วยทรัพยากรที่เกี่ยวข้องอีกเป็นจำนวนมหาศาล ในขณะที่มีโรคอุบัติใหม่กำลังจะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคตอีกมากมาย เป็นการใช้ AI หรือปัญญาประดิษฐ์ ในการช่วยออกแบบและประมวลผลเพื่อการศึกษาโครงสร้างโมเลกุลยาในรูปแบบ 3 มิติ เพื่อดูการจับกับโปรตีนเป้าหมายภายในร่างกายมนุษย์ ซึ่งจะวางรากฐานทฤษฎีที่จะนำไปสู่ผลการรักษาที่ตรงจุดและแม่นยำ ช่วยลดงบประมาณที่จะต้องลงทุนอย่างมหาศาลเพื่อดูผลการทดสอบกับตัวอย่างจริง อีกทั้งยังสามารถช่วยย่นย่อระยะเวลาในการคิดค้นและผลิตยาได้ ตลอดจนสามารถเชื่อมต่อไปยังแหล่งความรู้ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องอีกมากมาย