มหาวิทยาลัยมหิดล นำร่องหลักสูตรวิศวกรรมหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์การแพทย์ ปั้น ‘วิศวกรพันธุ์ใหม่’ เพื่อผลักดันเศรษฐกิจประเทศ คาดทิศทางอุตสาหกรรมหุ่นยนต์อีก 5 ปีข้างหน้า
หุ่นยนต์แพทย์อัจฉริยะ Doctosight สำหรับการวินิจฉัยและรักษาผ่านระบบโทรเวช ไทยเป็นหนึ่งในประเทศมีปัญหาการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ จากการกระจายตัวบุคลากรด้านการแพทย์ในหลายพื้นที่ ทำให้อัตราส่วนจำนวนบุคลากรทางด้านการแพทย์ต่อประชากรทั้งหมดค่อนข้างต่ำ เฉลี่ย 0.393 คนต่อประชากร 1000 คน ทีมวิจัยคณะวิศวะมหิดลจึงพัฒนาหุ่นยนต์แพทย์อัจฉริยะ Doctosight สำหรับการวินิจฉัยและรักษาผ่านระบบโทรเวช (Telemedecine) ในช่วงโควิด ได้ช่วยให้แพทย์และบุคลากรไม่ต้องเข้าใกล้หรือสัมผัสผู้ป่วยโดยตรง ช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ
หุ่นยนต์ทำงานเป็นกิจวัตรภายในช่วงระยะเวลาที่กำหนดได้โดยไม่ต้องใช้คนควบคุม ระบบจะอาศัยแพทย์หรือพยาบาลเฉพาะตอนที่ให้คำปรึกษากับคนไข้ผ่านตัวหุ่นยนต์ ซึ่งช่วยในการลดภาระการทำงานของแพทย์ พยาบาล เช่น วัดชีพจร วัดความดันเลือด วัดอัตราการเต้นของหัวใจ เป็นต้น ส่วนกลางของตัวหุ่นยนต์ออกแบบเป็นช่องเก็บของ ทั้งช่วยลำเลียงยาและวัสดุไปยังคนไข้ เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพที่โรงพยาบาลจะได้รับผ่านตัวหุ่นยนต์ที่ทำงานร่วมกัน
หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด ประเทศไทยประสบปัญหาขาดแคลนแพทย์ในหลายสาขา โดยเฉพาะแพทย์ที่มีชำนาญในการผ่าตัดเฉพาะด้านซึ่งมักจะประจำอยู่เฉพาะหัวเมืองใหญ่ ๆ นี่ จึงเป็นที่มาของการพัฒนา “หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดแบบส่องกล้อง” ซึ่งถูกคิดค้นโดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเป็นการนำเทคโนโลยีและหุ่นยนต์ควบคุมระยะไกลมาช่วยลดปัญหาดังกล่าว หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด (Minimal Invasive Surgery: MIS) จะทำงานรวมกับศัลยแพทย์ และเทคโนโลยี AI ในการควบคุมการเคลื่อนไหวของหุ่นยนต์ที่จะอิงกับจุดผ่าตัดที่กำหนดไว้ไม่ให้ขยับออกจากจุด เพื่อป้องกันความเสียหายของเนื้อเยื่อ ที่สำคัญคือศัลยแพทย์สามารถควบคุมหุ่นยนต์ได้จากระยะไกล ช่วยให้แพทย์ผ่าตัดช่วยเหลือผู้ป่วยได้แม้อยู่คนละจังหวัดกัน ถือเป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมที่นอกจากจะช่วยลดปัญหาการขาดแคลนแพทย์แล้ว ยังทำให้การผ่าตัดมีความแม่นยำสูง ลดระยะเวลาและเพิ่มประสิทธิภาพในการผ่าตัด รวมถึงลดความผิดพลาดจากการเหนื่อยล้าอีกด้วย
“หุ่นยนต์เอไอ- อิมมูไนเซอร์ (AI-Immunizer)” เป็นหุ่นยนต์ทดสอบภูมิคุ้มกันอัจฉริยะในการพัฒนาวัคซีน ซึ่งเป็นครั้งแรกของประเทศไทย ที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล ร่วมกันคิดค้นนวัตกรรม เพื่อเร่งสนับสนุนและยกระดับการพัฒนาวัคซีนของไทยสู่ระดับโลก โดยผสานเทคโนโลยีเอไอทั้งระบบจนจบครบวงจร ตั้งแต่ขั้นตอนจัดเตรียมการเพาะเชื้อไวรัส การทดสอบ การประมวลผล ระบบภาพ บันทึกผล และวิเคราะห์ผลหรือแนวโน้มได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ ลดเสี่ยงการติดเชื้อและลดภาระขั้นตอนการทำงานบุคลากรทางการแพทย์ นับเป็นอีกก้าวสำคัญที่ผลักดันการพัฒนาวัคซีนของศูนย์วิจัยวัคซีนต่าง ๆ ให้สำเร็จเร็วขึ้นและปลอดภัย
หุ่นยนต์ช่วยฟื้นฟูสุขภาพ เช่น หุ่นยนต์ดูแลผู้สูงวัย และหุ่นยนต์เสริมพัฒนาการเด็กพิเศษและผู้ป่วยทางสมอง เพื่อช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตและความอิสระของผู้ป่วย ทำให้พวกเขาสามารถเคลื่อนย้าย เข้าถึงสิ่งของและสถานที่ และสามารถทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันได้สะดวกมากขึ้น สามารถพัฒนาสมองผ่านการเล่มเกมที่สนุก ทำให้พวกเขาเหมือนได้รับชีวิตใหม่ที่ดีขึ้น