เชื่อหรือไม่ ว่าประเทศไทย อยู่ในภาวะขาดแคลนทรัพยากรบุคลากรทางด้านการแพทย์ โดยเฉพาะพยาบาลวิชาชีพ ในขณะที่ภาครัฐมีนโยบายผลักดันให้ประเทศไทย เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ หรือเรียกว่า Medical Hub ที่สามารถแข่งขันกับนานาประเทศ โดยใช้ศักยภาพความแข็งแกร่งด้านระบบบริการสุขภาพของประเทศ ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เดินทางเข้ามาเพื่อรับบริการจนสามารถสร้างรายได้เข้าสู่ประเทศ และเป็นฐานรากในการพัฒนาประเทศไปสู่ความยั่งยืน
หากแต่ พยาบาลวิชาชีพ เป็นสาขาวิชาชีพหนึ่งที่ขาดแคลนเป็นอันดับต้น ๆ ของเครือข่ายการให้บริการทางการแพทย์ จากที่องค์การอนามัยโลกได้กำหนดสัดส่วนพยาบาลต่อจำนวนประชากรไว้ที่ 1 ต่อ 200 คน โดยในปี 2565 พบว่า สัดส่วนพยาบาลต่อจำนวนประชากรในประเทศเฉลี่ยอยู่ที่ 1 ต่อ 660 นั้น จึงหมายความว่า พยาบาล 1 คนในไทยต้องทำงานเท่ากับพยาบาล 3 คน ด้วยค่าแรงเท่าเดิม*
ซึ่งตรงข้ามกับยุทธศาสตร์ของประเทศที่กำหนดไว้ ประกอบกับความต้องการในสังคมที่สูงขึ้นทุกวัน เนื่องจากประเทศไทยกำลังเผชิญกับปัญหาสังคมผู้สูงอายุ ที่ต้องการการดูแลมากเป็นพิเศษ อย่างไรก็ตาม วิกฤติขาดแคลนพยาบาลวิชาชีพ เกิดขึ้นจากหลายสาเหตุ อาทิเช่น การบริหารและการดูแลบุคลากรขององค์กร ค่าตอบแทนหรือสิทธิประโยชน์ที่พยาบาลวิชาชีพควรได้รับ ระบบโครงสร้างและกระบวนการทำงานภายใน ซึ่งเป็นปัญหาที่ภาครัฐและหน่วยงานจำเป็นต้องบริหารจัดการต่อไป แต่อีกหนึ่งสาเหตุที่เกิดขึ้นคือ พบว่ายังมีนักเรียน นักศึกษาอีกจำนวนมากที่สนใจและมีศักยภาพในการศึกษาต่อในสาขาพยาบาล แต่ขาดโอกาสในการศึกษาเพราะขาดแคลนทุนทรัพย์