หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิตสาขาวิชาธรณีศาสตร์ Bachelor of Science (Geoscience) ที่เปิดสอนโดยมหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี ผลักดันการสร้างบุคลากรด้านธรณีวิทยาที่ปัจจุบันยังขาดแคลน ด้วยการสร้างแหล่งเรียนรู้ผ่าน “อุทยานธรณีและพิพิธภัณฑ์” ที่ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 70 ไร่ โดยเป็นแหล่งเรียนรู้กลางแจ้งทางธรณีวิทยาที่เน้นกระบวนการเรียนรู้ด้วยตนเองจากของจริงจากชั้นหินที่มีอายุนับล้านปี และแบบจำลองที่เป็นตัวแทนของหิน แร่ และซากดึกดำบรรพ์จากทั่วประเทศไทย ซึ่งถูกจัดแสดงตลอดเส้นทางในอุทยานธรณีฯ โดยแบ่งระยะตามช่วงอายุทางธรณีกาลตั้งแต่มหายุคพรีแคมเบรียน (มากกว่า 542 ล้านปี) ถึงยุคปัจจุบัน
อุทยานธรณี (Geological Park) เป็นแหล่งรวบรวมหินขนาดใหญ่ โดยมีตั้งแต่ยุคเก่าสุดของประเทศไทย จนถึงยุคปัจจุบัน โดยมีระยะทางในการศึกษายาวกว่า 2 กิโลเมตร ซึ่งใช้รถ Electric Tram ในการเข้าชม และตัวอย่างหินแต่ละก้อนมี QR Code เพื่อให้ทำการศึกษาเพิ่มเติม
สำหรับพิพิธภัณฑ์ธรณี (Geoscience Museum) เป็นแหล่งรวบรวมหินจากทั่วโลก โดยได้รับความอนุเคราะห์จากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ทั่วโลก มีหินที่จัดเก็บในยุคต่าง ๆ ตั้งแต่ยุคเริ่มแรกจนถึงยุคปัจจุบัน นอกจากนี้มีการจัดเก็บ Fossil และได้รับความอนุเคราะห์จาก GISTDA ในการใช้ภาพถ่ายดาวเทียมในนำเสนอแผนที่ทางธรณี รวมทั้งมีห้องฉายหนังที่มีการนำเสนอเกี่ยวกับธรณี โดยสามารถเข้าชมพิพิธภัณฑ์ผ่านทาง Virtual Tour ได้อีกด้วย