เพราะทุกความฉุกเฉินหมายถึงชีวิตของผู้ป่วย แต่ทุกเหตการณ์ที่ผู้ป่วยฉุกเฉินต้องการ เรามี “นักปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์ (Paramedic)” ที่มีความรู้ ความสามารถในการดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินนอกโรงพยาบาล รวมทั้งการขนย้ายลำเลียงที่ถูกวิธี หรือไม่
นักปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์ หรือที่หลายคนเรียกว่าแพทย์ฉุกเฉิน หรือ ฮีโร่ช่วยชีวิต มีบทบาทสำคัญในการช่วยผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตนอกโรงพยาบาล หรือ ณ จุดเกิดเหตุ เป็นวิชาชีพที่พัฒนาขึ้นเพื่อมุ่งให้นักปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์ มีความรู้ ทักษะ และเจตคติในการปฏิบัติการฉุกเฉินแก่ผู้ป่วยฉุกเฉิน อันได้แก่ บุคคล ซึ่งได้รับบาดเจ็บหรือมีอาการป่วยกะทันหัน ซึ่งเป็นภยันตรายต่อการดำรงชีวิตหรือการทำงานของอวัยวะสำคัญ จำเป็นต้องได้รับการประเมิน การจัดการ และการบำบัดรักษาอย่างทันท่วงที เพื่อป้องกันการเสียชีวิตหรือการรุนแรงขึ้นของการบาดเจ็บ หรืออาการป่วยนั้น โดยใช้ศาสตร์และศิลป์อย่างเป็นองค์รวมในการปฏิบัติการด้านการแพทย์ฉุกเฉิน นับแต่การรับรู้ถึงภาวะการเจ็บป่วยฉุกเฉินจนถึงการดำเนินการให้ผู้ป่วยฉุกเฉินได้รับการบำบัดรักษาให้พ้นภาวะฉุกเฉิน ซึ่งรวมถึงการประเมิน การจัดการ การประสานงาน การควบคุมดูแล การติดต่อสื่อสาร การลำเลียงหรือขนส่ง การตรวจวินิจฉัย และการบำบัดรักษาพยาบาลผู้ป่วยฉุกเฉินทั้งนอกสถานพยาบาลและในสถานพยาบาล ตลอดจนดำเนินงานหรือบริหารจัดการระบบการแพทย์ฉุกเฉินในระดับท้องถิ่น หรือพื้นที่ได้ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งวิชาชีพทางการแพทย์ที่สำคัญที่ช่วยเพิ่มอัตราการรอดชีวิตให้สูงขึ้น
ในปัจจุบันประเทศไทยมีนักปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์เพียง 674 คน (ที่มา: สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ) ซึ่งปฏิบัติงานอยู่ในระบบเพียงครึ่งหนึ่ง และอัตราการผลิตบุคลากรวิชาชีพนี้ได้เพียงปีละประมาณ 180 – 200 คนเท่านั้น ซึ่งยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของประเทศ ในขณะที่สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติได้ประมาณการความต้องการนักปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์ในประเทศกว่า 35,000 คนในระยะเวลา 5 ปี และจำนวนที่ต้องการเร่งด่วนภายใน 1-3 ปี ไม่น้อยกว่า 10,000 คน
เพื่อให้ผู้คนสามารถเข้าถึงระบบการแพทย์ฉุกเฉินได้อย่างทั่วถึง มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมพัฒนาและเพิ่มจำนวนบุคลากรผ่านหลักสูตรแรกในประเทศไทยที่มีการเรียนการสอนโดยอาจารย์แพทย์เฉพาะทางเวชศาสตร์ฉุกเฉินและอาจารย์แพทย์เฉพาะทางสาขาต่าง ๆ และต่อยอดไปสู่มีหลักสูตรใหม่ ร่วมกับวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬา เพื่อผลิต “นักปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์ด้านกีฬา (Sport Paramedic)” พร้อมดูแลผู้ป่วยที่ได้รับการบาดเจ็บจากการเล่นกีฬาได้อย่างถูกต้อง มีประสิทธิภาพและทันเวลา ซึ่งเป็นที่แรกในไทย ซึ่งจะช่วยพัฒนาศักยภาพให้ไทยมีความพร้อม ในการรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินในระดับสากลอีกด้วย