มะเร็งรักษาได้ แต่ยิ่งรู้เร็ว รู้ทัน รู้ก่อนที่เซลล์มะเร็งขยายตัว จะยิ่งสามารถป้องกันและยับยั้งก่อนกลายเป็นมะเร็งเต็มตัวได้ ด้วยเหตุนี้ หน่วยงานต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยมหิดลจึงเริ่มทำการวิจัย และคิดค้นนวัตกรรมเพื่อทำความเข้าใจตั้งแต่จุดเริ่มต้นของปัญหา เช่น
ศูนย์จีโนมิกส์ศิริราช เพราะมะเร็งเกิดจากความผิดปกติทางพันธุกรรม การถอดรหัสข้อมูลพันธุกรรมคือทางออกที่จะช่วยให้เข้าใจถึงจุดเริ่มต้นของการเกิดมะเร็ง
มหาวิทยาลัยมหิดลรวบรวมฐานข้อมูลพันธุกรรมของคนไทยมาแล้วกว่า 16 ปี ถอดรหัสพันธุกรรมหาสาเหตุในการเกิดโรคมะเร็งทั้งของเฉพาะบุคคล และสมาชิกในครอบครัว เพื่อให้รู้ว่าใครบ้างที่มีความเสี่ยง และสามารถเตรียมตัวป้องกันมะเร็งตั้งแต่ยังไม่เกิดโรค
จมูกอิเล็กทรอนิกส์ (E-NOSE) เทคโนโลยีวิเคราะห์กลิ่นเพื่อประเมินความเสี่ยงการเกิดโรคร้ายอย่างมะเร็งที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เนื่องจากมีการตั้งข้อสังเกตว่าเมื่อคนไข้ไม่สบายหรือมีอาการบางอย่าง ร่างกายจะมีกลิ่น ส่งออกมา ไม่ว่าจะจากสารคัดหลั่ง เหงื่อ หรือปัสสาวะ
หากเทคโนโลยีนี้ได้ถูกพัฒนาจนเกิดขึ้นจริง จนสามารถรวบรวมข้อมูล เก็บสถิติ วิเคราะห์ความแตกต่างของกลิ่นได้ จะช่วยสร้างนวัตกรรมเพื่อวิเคราะห์ความเสี่ยงโรคมะเร็งของแต่ละบุคคลจากกลิ่นได้
ธนาคารชีวภาพสำหรับโรคมะเร็งแบบครบวงจร คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี หน่วยงานที่ทำหน้าที่เก็บรวบรวมตัวอย่างทางคลินิกของผู้ป่วย ชิ้นเนื้อมะเร็ง ชิ้นเนื้อปกติ องค์ประกอบของเลือด และสารคัดหลั่งต่าง ๆ เช่น เซรั่ม พลาสม่า ที่เหลือจากการวินิจฉัยและรักษาผู้ป่วยมะเร็ง มาเก็บรักษาแบบแช่แข็ง เพื่อใช้ในการศึกษาและใช้ทำวิจัยในระยะยาว เพื่อสนับสนุนให้เกิดการศึกษาวิจัยเชิงลึกระดับชีวโมเลกุลด้านโรคมะเร็ง และทำความเข้าใจในเซลล์มะเร็งที่แตกต่างกันในแต่ละประเภท
เพราะแม้ผู้ป่วยจะเป็นมะเร็งชนิดเดียวกัน แต่อาการของโรค และการตอบสนองต่อยาก็อาจจะไม่เหมือนกัน รวมถึงสาเหตุของโรคก็อาจแตกต่างกัน เพราะฉะนั้น ยิ่งรู้จักกับเซลล์มะเร็งมากเท่าไร ก็ยิ่งมองเห็นแนวทางการป้องกัน และการยับยั้งได้มากขึ้น