แม้ผู้ป่วยจะเป็นมะเร็งชนิดเดียวกัน แต่การตอบสนองต่อยารักษาของแต่ละคนอาจไม่เหมือนกัน Personalized Medicine คือแนวทางการรักษาโดยการใช้ยาที่แตกต่างกันเฉพาะบุคคล เพิ่มโอกาสในการรักษาโรคมะเร็งให้หายดีมากขึ้น
นอกจากนี้ หนึ่งในภาพจำของการรักษาโรคมะเร็งคือ การรักษาแบบเคมีบำบัด หรือการฉายแสง จะรู้สึกเจ็บปวดทรมาน รวมถึงผลข้างเคียงต่าง ๆ เช่น คลื่นไส้อาเจียนตลอดเวลา หรือผมร่วง ทำให้ผู้ป่วยมีความรู้สึกกังวล ถอดใจแม้ยังไม่ทำการรักษา
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี เข้าใจความรู้สึกกังวลของผู้ป่วยเป็นอย่างดี จึงพัฒนา ธนาคารชีวภาพ สำหรับเก็บรวบรวมตัวอย่างเนื้อเยื่อที่เหลือจากขั้นตอนการวินิจฉัยและรักษามะเร็ง เพื่อนำมาพัฒนาต่อยอดเป็นโมเดลออร์แกนอยด์มะเร็ง (Cancer Organoid) ก้อนเนื้อเยื่อจำลองขนาดเล็ก สำหรับทดลองการใช้ยา ตรวจสอบการตอบสนองต่อยา รวมถึงผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น
ธนาคารชีวภาพ คือหน่วยงานที่ทำหน้าที่เก็บรวบรวมตัวอย่างทางคลินิกของผู้ป่วย ชิ้นเนื้อมะเร็ง ชิ้นเนื้อปกติ องค์ประกอบของเลือด และสารคัดหลั่งต่าง ๆ ที่เหลือจากการวินิจฉัยและรักษาผู้ป่วยมะเร็ง มาเก็บรักษาเพื่อใช้ในการศึกษาและทำวิจัยในระยะยาว
ยิ่งธนาคารชีวภาพได้รับการสนับสนุนจากทุกภาคส่วนมากเท่าไร ยิ่งเพิ่มโอกาสในการศึกษา และสร้างนวัตกรรมเพื่อผู้ป่วยมะเร็งทุกคนได้มากยิ่งขึ้น ยิ่งมีตัวอย่างงานวิจัย ก็จะยิ่งทำให้เข้าใจในเซลล์มะเร็งที่แตกต่าง และสามารถคิดค้นวิธีการรักษาหรือ ยารักษาเฉพาะบุคคล (Personalized Medicine) ได้